ความงดงามประการหนึ่งของภาษาไทย คือ เรามี สำนวน คำพังเพย สุภาษิต ที่จะช่วยทำให้คำพูดคำเขียนมีความหลากหลาย มีความคมคาย ให้แง่คิดที่กว้างขวางสละสลวยยิ่งขึ้น แต่ความหมายหรือคำจำกัดความของ สำนวน คำพังเพย สุภาษิต บางทีก็ยากที่จะแยกออกจากกันให้ชัดเจน ดังเช่น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายไว้ดังนี้
สำนวน เป็นคำนาม มีหลายความหมาย คือ
๑. ถ้อยคำที่เรียบเรียงหรือโวหาร บางทีก็ใช้ว่าสำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่มๆ ดอนๆ
๒. ถ้อยคำหรือข้อความ ที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัว หรือมีความหลากหลายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
๓. ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นถ้อยคำพิเศษเฉพาะภาษาหนึ่งๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี
๔. ชั้นเชิงหรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สำนวนยาขอบ
๕. ลักษณนามใช้เรียกข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่งๆ เช่น อิเหนามีหลายสำนวน บทความ ๒ สำนวน
พังเพย เป็นคำนาม หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม
ภาษิต เป็นคำนาม หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติ เช่น กงเกวียน กำเกวียน รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ คือเป็นคำพูดเชิงเตือนสติว่า อย่าขัดขวางผู้มีอำนาจ
ดังนั้นคำว่า "สำนวน" ที่ใช้ในที่นี้จึงหมายถึงเฉพาะถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร มีความหมายเป็นเชิงเปรียบเทียบ แต่ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า สำนวนเป็นแต่คำพูดชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ได้วางหลักวิชาหรือให้คติอย่างไร เช่น
หนังหน้าไฟ เกลือจิ้มเกลือ
ตาบอดได้แว่น เรือล่มเมื่อจอด
อาภัพเหมือนปูน
ส่วนคำพังเพย มีความหมายลึกซึ้งกว่าสำนวน มีลักษณะติชมหรือแสดงความเห็นอยู่ในตัว แต่ยังไม่ได้วางหลักความจริงอันเที่ยงแท้ และยังไม่เป็นคำสอนแท้ คือส่วนมากเป็นข้อคิดค่อนไปในทางเป็นภาษิต แต่ก็ไม่เชิงโดยตรงทีเดียว เช่น
ทำนาบนหลังคน
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
น้ำถึงไหน ปลาถึงนั่น
มาถึงคำภาษิตหรือสุภาษิต ต้องประกอบไปด้วยลักษณะ ๒ ประการ คือ เป็นข้อความสั้นๆ แต่กินความลึกซึ้ง และเป็นคำสอนหรือวางหลักความจริง เช่น
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
ฆ่าควายเสียดายพริก
น้ำขึ้นให้รีบตัก
อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
เมื่อแกงจืดจึงจะรู้จักคุณเกลือ
การรู้ภาษิตมากๆ จึงมีประโยชน์อย่างน้อยก็ ๓ ประการ คือ ทำให้เกิดความคิดลึกซึ้ง ทำให้รู้จักประพฤติตัวดีขึ้น และทำให้ทราบถึงนิสัยใจคอและจารีตประเภณีของสังคมต่างๆ คนที่ไม่ชอบสุภาษิต ท่านจึงกล่าวว่าเป็นคนใจร้าย ดังพุทธสุภาษิตว่า
นตฺถิ ทุฏเฐ สุภาสิตํ - คนใจร้ายย่อมไม่ชอบสุภาษิต
เนว ทุฏเฐ นโย อตฺถิ - เมื่อหัวใจร้ายแล้ว ความคิดที่แยบคายก็ไม่มี
น ธมฺโม น สุภาสิตํ - ธรรมะไม่มี สุภาษิตก็เลยไม่มีไปด้วย
ท. กล้วยไม้ ณ อยุธยา
หนังสือ สำนวนไทย (กระทรวงศึกษาธิการ)
หนังสือ สำนวนไทย (กระทรวงศึกษาธิการ)