17 ก.พ. 2556

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย สะท้อนวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน


        การศึกษา สำนวน  คำพังเพย  สุภาษิต  ของไทย  ทำให้เราทราบถึง  ประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติ  วัฒนธรรม  ประเพณี  ศาสนา  การกินอยู่  ความรู้สึกนึกคิด  เช่น  ความจงรักภักดี  ความอ่อนโยน  ความประนีประนอม  ความเคารพผู้ใหญ่  ความประสานประโยชน์  การให้อภัย  การอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรี  ฯลฯ  เรื่องเหล่านี้ทำให่เรามีความกว้างขวางขึ้นและสนุกสนานต่อการอ่านเรื่องเก่า  เพราะทำให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมสมัยนั้นๆ เช่น
        ประวัติศาสตร์ - ศิลาจารึก  กฎหมายตราสามดวง  พงศาวดาร  ทำให้เกิดสำนวนไทยไว้มาก  ดัง

  • ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว  
  • ไพร่ฟ้า  หน้าใส  
  • บ้านท่านเคยอยู่  อู่ท่านเคยนอน  
  • ผัวหาบเมียคอน  
  • ลูกขุนพลอยพยัก

        ศาสนา -

  • หู้เข้าพรรษา  
  • ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  
  • นั่งเป็นพระอันดับ  
  • ตักบาตรอย่าถามพระ  
  • วันโกนไม่ละวันพระไม่เว้น  
  • เห็นขนมอยากบวช เห็นนมสวดอยากสึก (สวด  เป็นภาษาถิ่น  แปลว่า  พุ่ง)

        การนิยมความสุภาพ  อ่อนโยน  มีสัมมาคารวะ -

  • บัวไม่ให้ช้ำ  น้ำไม่ให้ขุ่น  
  • น้ำขุ่นอยู่ใน  น้ำใสอยู่นอก  
  • อ่อนหวานมานมิตรล้อนเหลือหลาย  หยาบบ่มีเกลอกรายเกลื่อนใกล้
  • เดินตามผู้ใหญ่  หมาไม่กัด
  • เป็นผู้น้อยคอยก้มประนมกร

        ภาษาหมากรุก -

  • เข้าตาจน        -  หมดทางทำมาหากิน
  • จนแต้ม        -  ไม่มีทางเดิน  ทางสู้
  • จนมุม        -  ไม่มีทางหนี
  • หน้าเป็นม้าหมากรุก        -  หน้าเง้างอ
  • ล้มกระดาน        -  เลิกกระทำกิจการใด ๆ
  • ไม่ดูตาม้าตาเรือ        -  ซุ่มซ่าม

        ภาษาชนไก่ -

  • คลุมถุงชน
  • สู้จนเย็บตา
  • ไม่ตายก็คางเหลือง  ฯลฯ

        การใช้สำนวนฯ  จึงควรระมัดระวัง  เพราะสำนวน  คำพังเพย  สุภาษิต  เมื่อในไปใช้ถูกที่  เขียนได้ถูกต้องตามแบบฉบับ  ก็เหมือนได้อาภรณ์ประดับข้อความให้งดงาม  แต่หากวิปริตผิดเพี้ยนไป  คุณค่าก็ย่อมลดลง  สำนวนของเก่าส่วนใหญ่เล่นคำไว้เหมาะเจาะดีแล้ว  น่าจะรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป  ถ้าไปดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไป  ก็เท่ากับทำให้เป็นรอยตำหนิเสียโฉม  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่ให้คิดสำนวนใหม่ๆ เกิดขึ้น  ความจริงเป็นเรื่องควรส่งเสริมด้วยซ้ำ  ภาษาจึงจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น  เป็นแต่เสนอให้ระมัดระวังการดัดแปลงของเก่าเท่านั้น  ดังจะยกตัวอย่างบางประการ
        ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันคนหนึ่ง  ได้ดัดแปลงสำนวน  "น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ"  เป็น  "น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง"  ความหมายน่าจะไม่ตรงกับของเดิม  เข้าใจว่าเจตาของท่านเป็นเช่นนั้น
        พวกพูดด้วยความคะนอง  โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ภาษาเสียหายอย่างใด  เอาความสนุกเป็นเกณฑ์  เช่น

  • "อ้อยเข้าปากช้าง"  เป็น  "อ้อยเข้าปากหมา"
  • "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด"  เป็น  "เดินตามหลังหมาผู้ใหญ่ไม่กัด"
  • "ขายผ้าเอาหน้ารอด"  เป็น  "แก้ผ้าเอาหน้ารอด"

        อีกตัวอย่างเป็นประเภทรู้ไม่หมดหรือรู้ไม่จริง  สำนวนเดิมว่า  "ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม"  แก้ของเก่าเหลือเพียง  "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม"  ทั้งนี้เพราะไม่เคยรู้ว่าสำนวนเดิมเขายังมีต่อไปอีกว่า  "ด่วนได้ด้วยสามผลามนักมักพลิกแพลง"
        หรือสำนวน  "เด็ดบัวไว้ใย"  คือไม่ตัดไมตรีให้ขาด  ขยายความจนผิดเป็น  "เด็ดบัวไม่เหลือเยื่อใย"
        การศึกษาเรื่อง  สำนวน  คำพังเพย  สุภาษิต  จึงเป็นเรื่องชวนสนุกให้ค้น  ให้คิด  ให้ตีความ  ครูบาอาจารย์ควรส่งเสริมให้ศิษย์อ่าน  โคลงโลกนิติ  สุภาษิตพระร่วง  สุภาษิตอิศรญาณ  หรือพุทธสุภาษิตจากธรรมบทก็จะเกิดความคิดสติปัญญาสุขุมลึกซึ้งขึ้น  ดังในที่สุดนี้  ขอฝากโคลงกลบทจากระชุมจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  บทหนึ่งว่า
                คำปราชญ์ว่าอย่า ค้า         ยาพิษ
        คำปราชญ์ว่าอย่า คิด                คดจ้าว
        คำปราชญ์ว่าอย่า ชิด                คนชั่ว
        คำปราชญ์ว่าอย่า ห้าว               หักเหี้ยมหายคม


ท. กล้วยไม้ ณ อยุธยา